หลักการและเหตุผล

นับตั้งแต่มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ในปี ค.ศ. 1992 ที่ให้ทุกภาคส่วนในโลกหันมาให้ความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Conservation) ทั้งในระดับพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศ ที่มีความสำคัญและเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ แต่สถานการณ์การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) กลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ต่อมาทางองค์การสหประชาชาติ (United Nations) จึงได้กำหนดให้ ปี ค.ศ. 2011-2020 เป็นทศวรรษแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (United Nations Decade on Biodiversity) เพื่อให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้มีการดำเนินการทั้งในระดับนโยบาย ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและคุกคามสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ จนส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากการคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมมนุษย์แล้ว ในปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็ทวีความรุนแรงไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้จากปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าท้องฟ้าสีหม่นในยามเช้าแผ่ปกคลุมไปด้วยหมอกควัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นคือ มลพิษทางอากาศที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่กำลังจะต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะครั้งใหม่ เพราะการขยายฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่เคยได้มีการกล่าวถึงการจัดการกับตัวการของปัญหาสุขภาพอย่าง PM2.5 ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นไปตามการพัฒนาของเมือง สวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นหนึ่งหมุดหมายในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่ระบุไว้ว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมตามที่ลงนามรองรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ขององค์การสหประชาชาติ

ปีที่แล้วอินเดียก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศมากที่สุด แซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่างจีน (แม้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศที่จีนก็ยังแย่อยู่) โดยรายงานจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กล่าวไว้ว่าเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งถูกปกคลุมด้วยมลพิษทางอากาศ สาเหตุเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ก่อให้เกิดผลกระทบในระดับโลกและระดับภูมิภาค ทั้งทางกายภาพและชีวภาพ เช่น ระดับน้ำทะเลที่พิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรง ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ ส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับต่อผลผลิตของพืชอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่มั่นคงในชีวิตของประชากรนับล้านทั่วโลก ผลกระทบของภาวะโลกร้อนดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง โดยจะเกิดกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน และจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อปริมาณอาหารสำรอง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าทางการเกษตรเป็นหลัก ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเช่นเดียวกัน

ดังนั้นในปี 2562 โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ The Power Green Camp รุ่นที่ 14 จะยังคงอยู่ภายใต้หัวข้อหลักคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยในปีนี้จะจัดกิจกรรมภายใต้ แนวคิด "รวมพลังเยาวชน สู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ" และยังคงมีจุดประสงค์หลักของโครงการที่ยังคงมุ่งเน้นให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ฝึกทักษะ การมีจิตสาธารณะ คิดเป็น ทำเป็น มีเหตุมีผล และรู้จักการคิดวิเคราะห์ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปลูกฝังเยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ การฝึกทักษะจากการปฏิบัติจริง และการศึกษานอกสถานที่ ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มุ่งหวังว่าเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตจะเป็นกลุ่มผู้นำที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับส่งต่อไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชน และสังคม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และนำไปถ่ายทอดสู่ชุมชนและสังคมให้ได้รับทราบถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไป

วัตถุประสงค์

  1. - เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความหลากหลายชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. - เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพชีวิตของมนุษย์
  3. - เพื่อปลูกจิตสำนึก และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เยาวชนได้มีส่วนในการร่วมคิดหาวิธีการในการจัดการ ป้องกัน และร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์การปลี่ยนแปลงสภาพ
  4. - เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ให้มีโอกาสเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน และสร้างช่องทางการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน